การระบุสัญลักษณ์ของตัวนำ หรือ สีของสายไฟฟ้า มีความสำคัญต่อความปลอดภัยในการติดตั้งระบบไฟฟ้าอย่างมาก เพราะหากไม่ทำให้ถูกต้องตามมาตรฐานอาจทำให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดในการแยกแยะการต่อวงจรของตัวนำ เช่น ต่อตัวนำสลับเฟส หรือต่อวงจรผิดจนมีกระแสไฟไหลในสายดิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นได้
การติดตั้งระบบไฟฟ้าในประเทศไทย โดยทั่วไปจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ ที่ออกโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งมาตรฐานล่าสุดคือฉบับปี พ.ศ.2564 ได้มีการกำหนดวิธีการระบุสัญลักษณ์ตัวนำด้วยการใช้สีและการทำเครื่องหมายเป็นตัวอักษรไว้ในหัวข้อ 5.1.11 การระบุสัญลักษณ์ตัวนำสำหรับระบบแรงต่ำ (กระแสสลับ) ที่มีการต่อลงดิน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกตจากมาตรฐานการติดตั้ง ฯ
1. สำหรับสายแกนเดียวขนาดใหญ่กว่า 16 ตร.มม. โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตสายไฟฟ้าจะผลิตสายเป็นสีดำเป็นมาตรฐานของโรงงาน จึงมีการอนุญาตให้ใช้สายสีดำยาวตลอดทั้งเส้นและใช้วิธีทำเครื่องหมายเป็นสีหรือตัวอักษรแทนการทำฉนวนเป็นสีได้
2. สำหรับสายแกนเดียวที่ใช้เป็นสายดิน นอกจากจะใช้สายหุ้มฉนวนแล้ว ยังสามารถใช้สายตัวนำเปลือยได้
3. สีฉนวนสายดิน แม้จะอนุโลมให้ใช้สีเขียวได้สำหรับสายไฟฟ้าแกนเดียว แต่มาตรฐานต้องการให้ใช้สีเขียวแถบเหลืองเป็นทางเลือกแรกมากกว่า เช่นเดียวกับกรณีการทำเครื่องหมายเป็นตัวอักษรที่มาตรฐานต้องการให้ใช้อักษร PE เป็นทางเลือกแรกมากกว่าการใช้ตัวอักษร G หรือ E ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล IEC ที่กำหนดให้ใช้สีเขียวร่วมกับสีเหลือง หรือใช้ตัวอักษร PE เป็นสัญลักษณ์สำหรับ Protective Conductor ซึ่งก็คือสายดินป้องกันหรือสายดินของอุปกรณ์ไฟฟ้านั่นเอง
สำหรับสายไฟฟ้าแกนเดียว โดยเฉพาะสาย 60227 IEC 01 (THW) ซึ่งเป็นสายที่ใช้เดินในบ้านและอาคารโดยทั่วไป ในท้องตลาดจะมีสีสายไฟฟ้าให้เลือกหลากหลายสีสำหรับสายขนาดไม่เกิน 16 ตร.มม. การเลือกใช้จึงต้องเลือกสีสายไฟฟ้าให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ ดังที่กล่าวมา ส่วนสายแกนเดียวขนาดใหญ่กว่า 16 ตร.มม. ที่มักจะผลิตเป็นสีดำ ก็จำเป็นต้องทำเครื่องหมายเป็นสี หรือตัวอักษรบริเวณที่มีจุดต่อสายและทุกปลายสายให้ถูกต้องตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ ด้วยเช่นกัน
สำหรับสายไฟฟ้าชนิดหลายแกน ผู้ผลิตจะผลิตให้มีสีฉนวนเป็นไปตามมาตรฐานอ้างอิงอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อควรระวังในการเลือกสายไฟฟ้าดังนี้
สีของสายไฟฟ้า กรณีเลือกสายที่มีตัวนำ 3 แกน จะมีสีฉนวนให้เลือกสองแบบด้วยกันคือ
แบบที่หนึ่ง ฉนวนน้ำตาล, สีฟ้า และสีเขียวแถบเหลือง สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 1 เฟสที่มีสายดิน และ
แบบที่สอง ฉนวนสีน้ำตาล. สีดำ และสีเทา สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่ไม่มีทั้งสายนิวทรัลและสายดิน
สีของสายไฟฟ้ากรณีเลือกสายที่มีตัวนำ 4 แกน จะมีสีฉนวนให้เลือกสองแบบด้วยกันคือ
แบบที่หนึ่ง ฉนวนสีน้ำตาล. สีดำ, สีเทา และสีเขียวแถบเหลือง สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่มีสายดิน แต่ไม่มีสายนิวทรัล
แบบที่สอง ฉนวน สีน้ำตาล, สีดำ, สีเทา และสีฟ้า สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่มีสายนิวทรัลแต่ไม่มีสายดิน
ทั้งนี้ การใช้สายไฟฟ้าที่ระบุสีฉนวนถูกต้องตามมาตรฐาน จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดในการแยกแยะตัวนำสายไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแก้ไขหรือต่อเติมระบบไฟฟ้าในภายหลัง
มาตรฐาน IEC ที่ว่าด้วยเรื่อง การระบุสัญลักษณ์ตัวนำด้วยการใช้สีหรือตัวอักษร คือมาตรฐาน IEC 60445 ซึ่งสามารถสรุปการแนะนำในการระบุสัญลักษณ์ของตัวนำไว้ ดังตาราง
จะเห็นได้ว่า โดยหลักแล้ว การระบุสัญลักษณ์ตัวนำตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย มีพื้นฐานมาจากมาตรฐาน IEC
อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างบางประการที่พบระหว่างมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย และมาตรฐาน IEC 60445 ดังนี้
มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยอนุโลมให้ใช้สีเขียวสำหรับสายดิน กรณีที่เป็นสายไฟฟ้าแกนเดียวได้ แต่มาตรฐาน IEC กำหนดให้ต้องใช้สีเขียวและสีเหลืองร่วมกันเท่านั้น และไม่ให้ใช้สีเขียวหรือสีเหลืองร่วมกับสีอื่น ในการระบุสัญลักษณ์ตัวนำอื่น ๆ เพื่อป้องกันความสับสนด้วย นอกจากนี้ มาตรฐาน IEC ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้สีเขียวหรือสีเหลืองสีใดสีหนึ่งเพียงสีเดียวในการระบุสัญลักษณ์ตัวนำ เว้นแต่กรณีที่แน่ใจว่าจะไม่เกิดความสับสนในการแยกแยะตัวนำ
สำหรับตัวนำสายนิวทรัล มาตรฐาน IEC กำหนดสีด้วยคำภาษาอังกฤษว่า Blue ซึ่งให้ความหมายครอบคลุมทั้งสีน้ำเงินและสีฟ้าในภาษาไทย โดยมาตรฐานแนะนำให้ใช้สีฟ้า (Unsaturated colour blue หรือ Light blue) เพื่อป้องกันความสับสนกับสีอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้ห้ามใช้สีน้ำเงิน ส่วนมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย กำหนดให้สายนิวทรัลใช้สีฟ้าเท่านั้น
นอกจากนี้ มาตรฐาน IEC ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้สีเขียวหรือสีเหลืองสีใดสีหนึ่งเพียงสีเดียวในการระบุสัญลักษณ์ตัวนำ เว้นแต่กรณีที่แน่ใจว่าจะไม่เกิดความสับสนในการแยกแยะตัวนำ
การใช้สีเขียวและสีเหลืองร่วมกันสำหรับสายดิน มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยกำหนดให้เป็นสีเขียวแถบเหลือง ซึ่งตีความได้ว่าพื้นที่ผิวส่วนที่เห็นเป็นสีเขียวจะมีมากกว่าพื้นที่ผิวส่วนเส้นแถบที่เห็นเป็นสีเหลือง แต่ในมาตรฐาน IEC ไม่ได้เจาะจงลงไปว่าต้องใช้สีใดเป็นสีพื้นและสีใดเป็นเส้นแถบ แต่กำหนดโดยให้พื้นที่ผิวของสีใดสีหนึ่งอยู่ระหว่าง 30% – 70% และพื้นที่ผิวที่เหลือเป็นอีกสีหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าจะใช้เป็นสีเขียวแถบเหลือง หรือสีเหลืองแถบเขียวก็ได้ หรืออาจใช้เป็นสีเขียวและสีเหลืองที่มีพื้นที่เท่า ๆ กันสีละ 50% ก็ได้
การกำหนดสีของตัวนำเส้นไฟในระบบไฟฟ้า 3 เฟส มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย กำหนดให้ เฟส 1 ใช้สีน้ำตาล, เฟส 2 ใช้สีดำ และเฟส 3 ใช้สีเทา แต่ในมาตรฐาน IEC ระบุว่าควรใช้ สีดำ, สีน้ำตาล และสีเทา โดยไม่ได้กำหนดเจาะจงลงไปว่าต้องใช้สีใดสำหรับเฟสใด หรือมีการเรียงลำดับอย่างไร ดังนั้นในต่างประเทศจึงอาจพบเจอการใช้สีฉนวนเรียงสลับเฟสแตกต่างไปจากที่ประเทศไทยใช้ได้ เช่น เฟส 1 ใช้สีดำ, เฟส 2 ใช้สีน้ำตาล และเฟส 3 ใช้สีเทา เป็นต้น
และสุดท้ายนี้ เฟ้ลปส์ ดอด์จ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ สีของสายไฟฟ้า และการระบุสัญลักษณ์ตัวนำ ตามมาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนด รวมทั้งที่มาจากมาตรฐานสากล IEC แล้วอย่าลืมติดตามว่า เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะนำบทความดี ๆ อะไรมาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกนะคะ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่
ติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Price List
Extra high – high voltage Power cables
Medium voltage power cables
Low Voltage Power and Control Cables
Fire Resistant and Low Smoke Halogen Free cables
Telecommunication Cables
Building Wire and Bare Conductor